“อีเมลภาษาไทย” เพิ่มโอกาสเข้าถึงสังคมดิจิตอล

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประมาณ 24 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 70 ล้านคน แต่มีเพียง 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% เท่านั้นที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารได้ ทำให้คนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ประสบปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านภาษา

แน่นอนว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ แต่ในบางประเทศได้เริ่มพัฒนาระบบ URL และอีเมลแอดเดรสเป็นภาษาท้องถิ่นของตน ผ่านแนวทางการดำเนินโครงการที่ชื่อว่า Email Address Internationalization หรือ EAI เช่น รัสเซีย จีน ยูเครน กรีซ เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น ภายใต้การส่งเสริมโดย หน่วยงานบริหารรอินเทอร์เน็ตโลก ICANN และ ประชาคมด้านสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ต IETF (The Internet Engineering Task Force)

ในประเทศจีนมีการจดชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วยดอทประเทศจีน ซึ่งมีการลงทะเบียนในช่วงต้นปีที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 250,000 ชื่อต่อเดือน โดยทาง China Internet Network Information Center (CNNIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมนรหัสประเทศจีน ได้ร่วมมือกับ Coremail, Google และ Netease เพื่อปรับปรุงระบบให้รองรับอีเมลภาษาจีน โดย CNNIC เริ่มมีการพัฒนาเทคนิคการรับส่งอีเมลแอดเดรสหลากภาษา ให้สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ปี 2012 และต่อไป CNNIC มีแผนที่จะนำ EAI ลงไปใช้งานในเครือข่าย E-Government รวมถึงรัฐวิสาหกิจรายใหญ่ มหาวิทยาลัย และทางการทหาร

ด้าน Coremail ผู้ให้บริการระบบอีเมลสัญชาติจีน ได้พัฒนาโครงสร้าง และการทำงานของระบบให้บริการ EAI โดยใช้เทคนิค Double Email คือการใช้อีเมลแอดเดรสภาษาท้องถิ่นควบคู่กับอีเมลแอดเดรสภาษาอังกฤษ ซึ่งทำให้สามารถติดต่อได้ทั้งผู้รองรับ EAI และไม่รองรับได้ในครั้งเดียว โดย Coremail ได้เปิดให้ผู้ใช้งานสมัคร EAI ได้แล้วตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2014 และมีผู้สมัครแล้วกว่า 50,000 แอ็กเคานต์ ทั้งนี้ การใช้งานอีเมลแอดเดรสภาษาจีนได้รับการสนับสนุน และตั้งเป็นนโยบายโดยรัฐบาลจีน

สำหรับประเทศไทย มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ THNICF เป็นผู้นำร่อง และผลักดันแนวทางการใช้อีเมลภาษาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA จัดเวทีสัมมนาเพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาระบบการใช้งาน Email Address Internationalization (EAI) ในประเทศไทย รวมถึงชี้ให้เห็นความสำคัญของอินเทอร์เน็ตภาษาท้องถิ่น และเตรียมแผนรองรับในองค์กร และผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน และระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ

ดร.โคทม อารียา ประธานกรรมการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ THNICF กล่าวถึง ความสำคัญที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากเดิมอินเทอร์เน็ตใช้ภาษาอังกฤษในการเข้าถึง และจำนวนผู้ไม่ใช้ภาษาอังกฤษในหลายประเทศมีจำนวนมากกว่าผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี หรือ Digital Divide เพราะคนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่สะดวกที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อเริ่มต้นแก้ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการให้เกิด IDN หรือโดเมนภาษาท้องถิ่นขึ้นภายใต้ “.ไทย” รวมถึง EAI ซึ่งคือชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่นที่ใช้ตัวอักษรไทยทั้งหมด โดยการจัดงานในครั้งนี้มุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจ และสร้างความตระหนักต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้วางแนวทางการใช้งาน EAI ในประเทศไทย

นางเพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล ตัวแทนจาก THNICF กล่าวว่า จากการศึกษาถึงความเข้ากันได้ของระบบอีเมลต่างๆ ซึ่งได้แก่ Affilias, Crossflow, Coremail, Gmail, Hotmail และ Yahoo นั้น ยังมีระดับการรองรับ EAI ที่แตกต่างกัน โดยแยกประเด็นทดสอบเป็น การส่ง การรับ การตอบกลับ และการแนบชื่อ (cc) อีเมล ซึ่งปนกันระหว่าง EAI และอีเมลอักษรละตินดั้งเดิม การทดสอบแสดงให้เห็นว่าการรับส่งอีเมลแอดเดรสภาษาไทยระหว่าง Affilias, Crossflow และ Coremail สามารถทำได้ และสามารถส่งอีเมลไปยัง Gmail, Hotmail และ Yahoo ได้

สำหรับระบบ Hotmail และ Yahoo นั้นยังไม่สามารถส่งหาอีเมลแอดเดรสผู้รับในภาษาไทยได้ ซึ่งการรับอีเมลจากผู้ส่งนั้นจะแสดงผลเป็นอีเมลแอดเดรสที่ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น ในขณะที่ Gmail นั้นสามารถส่งอีเมลไปยังอีเมลแอดเดรสภาษาไทยของผู้รับ และยอมรับอีเมลจากผู้ส่งที่ใช้อีเมลแอดเดรสภาษาไทยโดยแสดงผลในภาษาไทยได้ แต่ผู้ใช้ยังไม่สามารถสร้างชื่อผู้ใช้งานภาษาไทยบนระบบ Gmail ได้

ด้าน นายโอม ศิวะดิตถ์ ตัวแทนจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์กำลังดำเนินการ คือ การปรับปรุงซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ ให้รองรับยูนิโค้ด และ TLD หรือโดเมนระดับบนสุดซึ่งเป็นภาษาต่างๆ โดยอาจจะจำเป็นต้องปรับปรุงเครื่องมือสำหรับผู้พัฒนา และไลบรารีต่างๆ ซึ่งการปรับปรุงจะกระทบถึงการทำงานร่วมกันในหลายๆ ระบบ รวมถึง กูเกิล ไอดี, แอนตี้สแปม, แอนตีฟิชชิ่ง และระบบออนไลน์ แบงกิ้ง เป็นต้น โดยไมโครซอฟท์ได้ทดสอบการทำงานของ Outlook 2016 เวอร์ชั่น Beta กับอีเมลแอดเดรสภาษาไทยของทาง THNICF พบว่าสามารถรองรับการใช้งานอีเมลแอดเดรสภาษาไทยได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เวอร์ชันดังกล่าวไปทดลองใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ไมโครซอฟท์

ด้าน นายสุภัทร พรนภา รองประธานด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรูเวฟ จำกัด ผู้พัฒนาระบบ CrossFlow ซึ่งเป็นอีเมลแพลตฟอร์มที่รองรับอีเมลแอดเดรสภาษาไทย ตามมาตราฐาน RFCs กล่าวว่า ระบบดังกล่าวมีความสามารถที่จะตรวจสอบระบบผู้รับปลายทางว่าสามารถรองรับการเข้ารหัสอีเมลแอดเดรสวิธีใดก็จะปรับวิธีการส่งให้เหมาะต่อผู้รับปลายทางแต่ละรายได้ โดยหากองค์กรใดสนใจสามารถติดต่อทางทรูเวฟเพื่อร่วมกันทดสอบความเข้ากันได้ของระบบ

ทั้งนี้ การปรับปรุงระบบเพื่อรองรับ EAI อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบจากทั้งฝั่งผู้ให้บริการโฮสต์ และผู้พัฒนาเว็บไซต์ แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันอีคอมเมิร์ซลงสู่กลุ่มประชาชนรากหญ้าที่มีจำนวนมากให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยในเวทีสัมมนาต่างมีความเห็นตรงกันว่าควรเริ่มจากภาครัฐมีนโยบายมาสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวก่อน รวมถึงการสนับสนุนให้องค์กรส่วนท้องถิ่นได้เริ่มใช้ชื่อโดเมน และมีอีเมลแอดเดรสเป็นภาษาไทยก่อน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสถานีตำรวจภูธร รวมถึงการสร้างมาตรฐานและแนวทางในการนำ EAI มาใช้กับประเทศไทยอย่างจริงจัง

MGR Online
6 มิ.ย. 2558

Leave a Reply