ที่มา

การรองรับ .ไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Universal Acceptance (UA) หรือ การยอมรับสากล ซึ่งก็คือ หลักการที่ชื่อโดเมนทุกชื่อจะถูกยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน การที่ชื่อโดเมนและชื่ออีเมลทุกชื่อ ที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ สามารถใช้งานได้โดยซอฟต์แวร์ประยุกต์ อุปกรณ์ และระบบที่รองรับการทำงานอินเทอร์เน็ต

Internationalized Domain Name (IDN) หรือ ชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น คือ ชื่อโดเมนที่สามารถประกอบด้วยอักษร (character) อื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากตัวอักษรภาษาอังกฤษ 37 ตัวซึ่งได้แก่ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ (อักษรละติน) ในรหัส ASCII A-Z, ตัวเลขอารบิก 0-9 และเครื่องหมายยัติภังค์ (-) แต่เดิมการจดทะเบียนชื่อโดเมนถูกจำกัดให้ใช้ตัวอักขระ ASCII เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดทางเทคนิคของระบบชื่อโดเมน ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาระบบ IDN เราจึงสามารถใช้ตัวอักษรในภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาไทยอันหมายรวมถึงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ และเครื่องหมายอื่น ๆ ในภาษาไทยในรหัส  Unicode  ในการกำหนดชื่อโดเมนได้ และ มีการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554

การใช้ชื่อโดเมนและชื่ออีเมลภาษาไทย

  • ใช้สื่อความหมายได้ชัดเจน ไม่ต้องแปลเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ก่อให้เกิดปัญหาในการอ่านและการสื่อสารชื่อโดเมน
  • บ่งบอกความเป็นตัวตน ขององค์กร ชุมชน บุคคล
  • ลดข้อจำกัดด้านภาษา ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 
  • ช่วยเพิ่มมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยได้ ลูกค้าจดจำชื่อโดเมน และค้นหาชื่อโดเมนนั้นได้ง่าย

อย่างไรก็ตามยังมีการใช้งานชื่อโดเมนและชื่ออีเมลภาษาไทยอยู่ในจำนวนจำกัด และยังพบว่าซอฟต์แวร์ อุปกรณ์  และระบบ ที่พัฒนาในประเทศไทยก็ยังไม่สามารถจัดการชื่อโดเมนระดับบนสุดใหม่ๆ ที่ความยาวชื่อมากกว่า 3 ตัวอักษร และ ชื่อภาษาไทย รวมทั้งยังไม่สามารถจัดการชื่ออีเมลภาษาไทย ได้อย่างถูกต้อง จึงมีการตั้งกลุ่มทำงานรองรับ .ไทย นี้ขึ้นเพื่อ 

  • เพิ่มการตระหนักรู้แก่ผู้มีส่วนร่วมในเรื่องชื่อโดเมน และชื่ออีเมล ภายใต้ .ไทย 
  • ช่วยเหลือนักพัฒนา สามารถพัฒนา ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์  และระบบ ให้เป็นรองรับชื่อโดเมนและชื่ออีเมล .ไทย
  • ช่วยเหลือให้ผู้ดูแลระบบ สามารถปรับปรุงแก้ไขระบบ ให้รองรับชื่อโดเมน .ไทย โดยเฉพาะการรับส่งอีเมลด้วยชื่ออีเมลภาษาไทย

แผนการดำเนินงาน

  • ปรับปรุงเอกสาร คู่มือทางเทคนิค
  • ปรับปรุงเว็บไซต์ เพิ่มเติมข้อมูลประชาสัมพันธ์ รู้จัก.ไทย
  • จัดทำเอกสารการสอนออนไลน์ภาษาไทยเรื่องการปรับปรุงระบบเมลเซิฟเวอร์ให้รองรับชื่ออีเมลภาษาไทย (EAI Implementation)
  • จัดการอบรมออนไลน์ 2 ครั้ง เผยแพร่การเอกสารการสอน
  • จัดการสัมมนาผ่านเว็บโดยอินฟลูเอนเซอร์ 2 ครั้ง
  • พัฒนาระบบที่ประยุกต์ใช้ชื่ออีเมลภาษาไทย
  • ประเมินความพร้อม รองรับ .ไทย ของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงของไทย และมอบประกาศนียบัตรให้เว็บไซต์ที่พร้อม รองรับ .ไทย
  • จัด Online Hackathon เพื่อติดตั้งระบบอีเมลเซิฟเวอร์ให้รองรับชื่ออีเมลภาษาไทย
  • จัด Online Hackathon เพื่อนักพัฒนา พัฒนาระบบที่ประยุกต์ใช้ชื่ออีเมลภาษาไทย
  • จัดแข่งกันทำ SEO Web .ไทย
  • ร่วมประชุมในชุมชนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้เรื่อง การรองรับ .ไทย

ต้องการมีส่วนร่วม กรุณาติดต่ออีเมล ติดต่อ@รู้จัก.ไทย