โดเมนเนมเว็บไซต์ภาษาอาราบิกครั้งแรกในโลก จีน ไทย จ่อคิวตาม (ประชาชาติธุรกิจ)

โลกออนไลน์สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ใช้อักษรอาราบิกเป็นชื่อโดเมนเนม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ใช้ตัวอักษรในภาษาละตินเป็นโดเมนเนม ขณะที่ภาษาจีนและไทยจ่อคิวรอเป็นชื่อเว็บไซต์เช่นกัน

เอเอฟพี รายงานว่า องค์กรเพื่อการจดทะเบียนโดเมนเนมในอินเทอร์เน็ต หรือ ICANN ซึ่งเป็นเหมือนนายทะเบียนการใช้ชื่อเว็บไซต์ของโลกแถลงทางออนไลน์ว่า “เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อาณาจักรอินเทอร์เน็ต ที่ตัวอักษรนอกเหนือภาษาละตินถูกใช้เป็นโดเมนเนมระดับสูงสุด ภาษาอาราบิกกลายเป็นภาษาแรกที่ไม่ใช่อักษรละตินที่ถูกใช้จดทะเบียนชื่อเว็บไซต์”

โดเมนเนมระดับสูงสุดเป็นเหมือนรหัสไปรษณีย์ในโลกอินเทอร์เน็ต โดเมนเนมที่คุ้นหูคุ้นตากันมากที่สุดได้แก่ .com, .org และ .net

ชื่อโดเมนแบบใหม่ล่าสุดถูกออกแบบสำหรับใช้ในประเทศ อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

คิม เดวีส์ แห่ง ICANN กล่าวในบล็อกเมื่อวันพฤหัส (6 พ.ค.) ว่า “ทั้งสามประเทศจะใช้อักษรภาษาอาราบิกเป็นชื่อโดเมน ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้ตัวอักษรจากขวาไปซ้ายได้”

อียิปต์อ้างว่าเว็บไซต์ที่ไม่ใช่ตัวอักษรละตินเว็บแรกมีนามสกุลว่า .Mars  ICAAN ระบุว่า “ภาษอาราบิกเป็นภาษาที่ใช้กันมากในการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ ผู้ใช้ในตะวันออกลางสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เพราะภาษาแม่ของพวกเขาถูกใช้ในทุกส่วนของโดเมนเนม”

เดวีส์ให้ข้อมูลว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะนำโดเมนเนมระดับสูงสุดไปใช้เพื่อความสะดวกของประชาชนในประเทศตนอย่างไร นอกเหนือจากอาราบิกแล้ว ภาษาที่อยู่ในขั้นตอนรอการเห็นชอบจาก ICANN คือ ภาษาจีน สิงหล ทมิฬและไทย

คำร้องขอมีโดเมนภาษาจีนของจีนแผ่นดินใหญ่นั้นอยู่ในกระบวนการขออนุมัติ ด้านฮ่องกง ไต้หวัน ศรีลังกา รัสเซียและหลายประเทศในแถบอาหรับก็กำลังต่อคิวอยู่เช่นกัน

ทีนา แดม แห่ง ICANN กล่าวว่า “เราตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อว่าตลาดจะมีผลตอบรับต่อโดเมนเนมที่ไม่ใช่อักษรละตินอย่างไร” เมื่อเดือนมกราคม นายทะเบียนการใช้โดเมนเนมของโลกแถลงว่า อียิปต์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์สามารถสร้างที่อยู่ในโลกออนไลน์เป็นภาษาท้องถิ่นได้ นับเป็นครั้งแรกในรอบสามทศวรรษที่ตัวอักษรอื่นนอกเหนือจากอักษรละตินปรากฏบนทุกส่วนของโดเมนเนม

เมื่อวันพฤหัส ICANN ได้รับคำร้องขอมีโดเนมเนม 21 ชื่อใน 11 ภาษา หลังจากที่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วทางองค์กรเห็นชอบให้ใช้ระบบที่อยู่ออนไลน์แบบหลายภาษา เพื่อให้ประชากรในส่วนต่างๆ ของโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น โดยกว่าครึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1.6  พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้ใช้ตัวอักษรภาษาละติน

ประชาชาติธุรกิจ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1273210239

Leave a Reply