“.th” มั่นคง-น่าเชื่อถือ ชื่อเว็บไซต์บ่งบอก “ความเป็นไทย” (ประชาชาติธุรกิจ)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีเว็บไซต์ไหนที่ฮอตฮิตเท่า www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท แต่ก็ปรากฏว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนประกาศแจ้งเตือนว่า เกิดเว็บไซต์ตั้งชื่อเลียนแบบมากมาย

โดยเฉพาะที่ลงท้ายด้วย “.th” มีถึง 23 ชื่อเว็บไซต์ อาทิ เราไม่ทิ้งกัน.co.th, เราไม่ทิ้งกัน.in.th

“ความจริง” ที่ควรรู้ในการจดทะเบียนโดเมนหรือชื่อเว็บไซต์ นั่นคือ แม้การจดทะเบียนโดเมนเนมเพื่อเป็นเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ จะง่ายแค่ปลายนิ้ว

โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ลงท้ายด้วย “.com” หรือ “.net”

แต่การจะจดชื่อเว็บไซต์ให้ลงท้ายด้วย “.th” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นชื่อโดเมนของประเทศไทย ที่ทาง มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Foundation) ได้รับอนุมัติจาก ICANN (องค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรชื่อและหมายเลขอินเทอร์เน็ตของโลก) ให้เป็นผู้ดูแล และปัจจุบันได้มอบหมายให้ “บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด” เป็นนายทะเบียนผู้ให้บริการจดทะเบียนชื่อโดเมน “.th” และ “.ไทย” เพื่อบ่งบอกความเป็นไทย

แต่จนถึงปัจจุบันนักท่องเน็ตทั่วไปก็ยังคุ้นเคยกับเว็บไซต์ที่ชื่อลงท้ายด้วย “.com” หรืออื่น ๆ มากกว่า “.th” หรือ “.ไทย” ที่มีไม่มากนัก แม้ว่าค่าบริการจดทะเบียนโดเมน co.th, in.th, ac.th, go.th, mi.th, or.th, net.th จะอยู่ที่ 856 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าไม่แพง

เหตุเพราะการจะขอจดทะเบียนไม่ใช่เรื่องง่ายแค่คลิกไม่ถึง 5 นาทีเสร็จแบบ “.com” หรือ “.net”

โดยเมื่อ พ.ค. 2562 “ที.เอช.นิค” ได้ประกาศนโยบายเกี่ยวกับการจดทะเบียนชื่อโดเมน .th และ .ไทย ฉบับล่าสุด ซึ่งระบุถึงเอกสารประเภทที่จะต้องใช้เพื่อ “พิจารณา” อนุญาตให้ใช้โดเมน อาทิ “.net.th” หรือ “.เน็ต.ไทย” จะต้องใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม

“.in.th” หรือ “.ไทย” จะจดทะเบียนได้เฉพาะองค์กรตามกฎหมายไทย หรือบุคคลสัญชาติไทย หรือชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย แม้จะอนุญาตให้ผู้ถือครองเครื่องหมายการค้าต่างประเทศจะขอจดทะเบียนชื่อโดเมน .in.th ในชื่อเดียวกับเครื่องหมายการค้าได้

แต่ก็เป็นไปเพื่อเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องสิทธิเท่านั้น ไม่สามารถใช้งานชื่อโดเมนนั้นได้

โดยเอกสารที่ใช้ กรณีสำหรับองค์กร ต้องมีหนังสือแจ้งขอจดทะเบียนชื่อโดเมน ลงนามโดยผู้บริหารองค์กร กรณีบุคคลทั่วไป ต้องมีบัตรประชาชน หนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงาน (work permit) สำหรับชาวต่างชาติ

ยิ่งถ้าเป็น “.co.th” นั่นหมายถึงต้องเป็นองค์กรธุรกิจที่จะต้องแนบ ทั้งทะเบียนการค้า ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หนังสือบริคณห์สนธิ

ทั้งในการตั้งชื่อโดเมนเพื่อขอจดทะเบียนยังมีเงื่อนไขอีกมากที่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด อาทิ ต้องตั้งชื่อโดเมนที่สื่อถึงองค์กรหรือโครงการอย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือ ในกรณีที่มีการเผยแพร่ 23 เว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ลงท้ายด้วย “.th” นั้น ทาง “ที.เอช.นิค” ออกแถลงการณ์ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเว็บปลอมดังกล่าว เพราะไม่เคยเปิดให้จดทะเบียนชื่อโดเมนด้วยชื่อ “ภาษาไทย” ที่ลงท้ายด้วย “.th”

หากจะจดทะเบียนชื่อเว็บไซต์ด้วย “ภาษาไทย” โดเมนจะต้องลงท้ายด้วยภาษาไทยเช่นกันเท่านั้น นั่นคือ “.ไทย”, “.ธุรกิจ.ไทย”, “.เน็ต.ไทย”

เรียกว่ากระบวนการกว่าจะได้ชื่อเว็บไซต์ที่บ่งบอก “ความเป็นไทย” ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ทำให้มีเว็บไซต์ที่จดทะเบียน “.th” อยู่แค่ 8% หรือราว 71,000 ชื่อเท่านั้น ส่วน “.ไทย” มีอยู่ราว 18,000 ชื่อ

แต่ความยุ่งยากทั้งมวลนั้น “ที.เอช.นิค” ระบุว่า เพื่อความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของโดเมนเนม

ประชาชาติธุรกิจ
https://www.prachachat.net/general/news-444301

Leave a Reply