‘โดเมน-อีเมล์ไทย’ ลดช่องว่าง ในโลกดิจิทัล

ต้นเหตุเพราะปัจจุบันยังมีประชาชนคนไทยในท้องถิ่นจำนวนหนึ่งยังไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหรือเข้าไปใช้บริการต่าง ๆ บนโลกอินเตอร์เน็ต จากเว็บไซต์ที่เปิด ๆ ใช้กันอยู่ ส่วนใหญ่ใช้แต่ชื่อภาษาอังกฤษ

ทำให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) มีภารกิจต้องทำอย่างไรให้คนไทยทั้่งประเทศได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต และสามารถนำไปใช้ในการต่อยอดการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนเมืองกับคนในพื้นที่ห่างไกล และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เช่น เข้าถึงการรักษาแพทย์ทางไกล การสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงเกิดการสร้างงาน สร้างสรรค์ธุรกิจ-บริการใหม่ๆ เกิดสตาร์ตอัพ

ล่าสุด ดีอี ร่วมกับ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือทีเอชนิค (THNIC) ส่งเสริมให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมล์เป็นภาษาไทย เพื่อลดช่องว่างดิจิทัลด้านการสื่อสาร และให้สอดคล้องกับการที่รัฐบาลกำลังพยายามจะให้ประเทศไทยเชื่อมโยงถึงกันได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศผ่านโครงการเน็ตประชารัฐ อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์และเตรียมเปิดให้บริการได้เร็วๆ นี้

ตามวัตถุประสงค์คาดหวังว่าการสื่อสารผ่านระบบอีเมล์ จ่าหน้าเป็นภาษาไทย จะเป็นทางออกที่ดี จะทำให้คนไทยทั่วๆ ไปที่ยังไม่คุ้นชินกับตัวอักษรภาษาอังกฤษ และยังมีอยู่อีกไม่น้อย สามารถเข้าถึง ใช้บริการอีเมล์ได้กว้างขวางมากขึ้น

ในวงการสื่อสารระบุว่า ข้อดีของการจดโดเมนภาษาไทย คือ ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย ตั้งแต่การตั้งชื่อโดเมนให้ตรงกับคีย์เวิร์ด (keyword) ค้นหาได้ง่าย เป็นที่จดจำของผู้ที่พบเห็นได้ อาจช่วยเพิ่มโอกาสการเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทางธุรกิจบางชื่อโลโก้ หรือสินค้าผลิตภัณฑ์ใช้ชื่อโดเมนภาษาอังกฤษ ทำให้สะกดยาก จดจำยาก เช่น นำชื่อเมือง จังหวัด มาเป็นจุดเด่น เช่น บางอ้อ.com หาดใหญ่.com กรุงเทพ.com เป็นต้น รวมถึงชื่อโดเมนไทยสามารถเป็นโดเมนที่สองได้อีกด้วย จึงเพิ่มจำนวนผู้จดจำมากขึ้น

ข้อเสียของโดเมนภาษาไทย ที่อาจจะยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากบางเบราว์เซอร์ไม่รองรับโดเมนภาษาไทย แต่เมื่อใช้กันอย่างแพร่หลาย ปัญหานี้ก็จะลดลง!!

พจนันท์ รัตนไชยพันธ์Ž ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ ทีเอชนิค (THNIC) กล่าวว่า จากการศึกษาความสำคัญของปัญหาการไม่มีชื่อโดเมนและชื่ออีเมล์เป็นภาษาท้องถิ่น ได้ข้อสรุปหลัก ๆ ว่า ความยากลำบากในการจดจำและการสะกดชื่อโดเมนและชื่ออีเมล์เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เช่น การระบุชื่อโดเมนหรือชื่ออีเมล์ ทางวิทยุ หรือโทรศัพท์ หรือการแจ้งชื่อตามป้ายประกาศต่างๆ การสะกดคำไทยเป็นภาษาอังกฤษทำได้หลายรูปแบบ (Transliteration Problem) วัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยเป็นสิ่งสำคัญแม้ในโลกอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

ชื่อโดเมนภาษาไทย และอีเมล์ภาษาไทย จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะปัจจุบันยังมีบางส่วนในพื้นที่ไกลๆ หรือคนสูงอายุที่มีปัญหาในการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ควรเพิ่มศักยภาพให้การเข้าถึงครอบคลุมไปถึงกลุ่มปลายทางได้ นี่คือวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ ลดอุปสรรคด้านภาษา ช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นŽ

ผู้อำนวยการทีเอชนิคระบุอีกว่า การเปิดรับจดทะเบียนชื่อโดเมนระดับที่สอง ภายใต้ .th (SLD.th) จากที่มูลนิธิได้เปิดรับจดทะเบียนชื่อโดเมนมาระยะหนึ่งแล้ว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีการจดทะเบียนชื่อสื่อความเป็นตัวตนและเอกลักษณ์ของธุรกิจ องค์กร และเครื่องหมายการค้าต่าง ๆ กว่า 80 ชื่อ และการเปิดรับจดทะเบียนในครั้งนี้ เช่นเดียวกับในครั้งที่ผ่านมา

มูลนิธิจะนำเงินบริจาคที่ได้ไปใช้เป็นทุนสนับสนุนสำหรับโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตภายใต้กิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิ อาทิ โครงการเน็ตถึงบ้าน (Net2Home) โครงการศูนย์ให้บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเตอร์เน็ต (Bangkok Internet Exchange) เป็นต้น

จึงขอเชิญชวนองค์กรที่สนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศไทย ไปพร้อมกับการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นสากลขององค์กรท่าน

ทั้งนี้ การเปิดรับจดทะเบียน SLD.th มูลนิธิได้มอบหมายให้ บริษัท ที.เอช.นิค. จำกัด เป็นบริษัทดูแลการจดทะเบียนชื่อโดเมนระดับที่สามภายใต้ .th ให้แก่มูลนิธิอย่างเป็นทางการ (Authorized Registrar) เป็นผู้ดำเนินการเหมือนเช่นเคย โดยเปิดโอกาสให้จดทะเบียนชื่อธุรกิจเอกชน ชื่อรัฐวิสาหกิจ และชื่อเครื่องหมายการค้าเท่านั้น

ขณะที่ สุพจน์ เธียรวุฒิŽ กรรมการและเลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ระบุว่า หากสามารถส่งเสริมให้มีการใช้ชื่อโดเมนและอีเมล์เป็นภาษาไทยได้ ประโยชน์และข้อดีของการช่วยให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต คือ ช่วยทำให้ทุกคนเข้าถึงฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจการประกอบธุรกิจออนไลน์ การเข้าถึงระบบอี-คอมเมิร์ซ รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ อาจช่วยให้ประชาชนเข้าใช้อินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

โลกอินเตอร์เน็ตมีประโยชน์มากมาย หากใช้งานให้เป็นก็จะเกิดประโยชน์ได้มาก อาทิ การศึกษาหาความรู้ การเข้าถึงข้อมูลการแพทย์เบื้องต้น การเข้าถึงฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่างๆ แต่ควรสื่อสารเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะพิษภัยบนโลกอินเตอร์เน็ต ที่ปัจจุบันมีหลายรูปแบบมากขึ้น ต้องทำให้ทุกคนสามารถคัดกรองข้อมูล ข่าวสารที่เป็นจริงเป็นเท็จได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาทีหลังŽ

เลขาธิการ สทค. กล่าวว่า ในโลกยุคปัจจุบัน การดำเนินชีวิตมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่หากมีการปรับให้ใช้ชื่อโดเมนและอีเมล์เป็นภาษาไทยได้จริงๆ ก็ไม่แน่ใจว่าการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติจะได้ผลดีหรือไม่ เนื่องจากชาวต่างชาติมีการใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะชื่ออีเมล์ หรือแม้แต่การที่เว็บไซต์ต่างๆ ก็มักใช้ชื่อภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ที่สำคัญ หากผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น ก็ควรต้องศึกษาผลสัมฤทธิ์อย่างละเอียดถี่ถ้วนจะมีผลอย่างไร เพราะการปรับเปลี่ยนให้ใช้ชื่อภาษาไทยได้ ก็อาจไม่ใช่คำตอบจะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงหรือเข้าใช้บริการต่างๆ จากเว็บไซต์ยังใช้แต่ชื่อภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ที่แท้จริง

มติชนออนไลน์ 
5 พฤศจิกายน 2561
https://www.matichon.co.th/economy/news_1212352

Leave a Reply