ETDA ออกโรงกระตุ้นใช้ชื่อโดเมนภาษาไทย เพิ่มโอกาสอีคอมเมิร์ซไทย

ETDA เดินหน้าผลักดันการใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยหรือ IDNs ลดข้อจำกัดด้านภาษา ช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และช่วยเพิ่มมูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยได้

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จากผลการศึกษาของ Universal Acceptance Steering Group (UASG) พบว่าหากซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาให้สามารถรองรับชื่อโดเมนใหม่ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษได้ จะสร้างโอกาสในการทำรายได้บนโลกออนไลน์เพิ่มมากถึง 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมากกว่า 3.27 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็น Universal Acceptance (UA) บนอินเตอร์เน็ต หรือความสามารถในรองรับภาษาต่าง ๆ อย่างเป็นสากล หมายถึงการที่ใครก็ตามบนโลกสามารถท่องอินเตอร์เน็ตได้โดยใช้ภาษาท้องถิ่นของตัวเอง ไม่จำกัดอยู่ที่ภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ชื่อโดเมนระดับบนสุดแบบทั่วไปแบบใหม่ หรือ New Generic Top Level Domain Names (gTLDs) ซึ่งรวมทั้งชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่น หรือ Internationalized Domain Names (IDNs) ได้รับการใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

IDNs จะเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการโปรโมตสินค้าในประเทศที่นิยมใช้ภาษาท้องถิ่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษอย่างประเทศไทย เพราะสามารถตั้งชื่อโดเมนที่บอกได้ทันทีว่า พวกเขาทำธุรกิจอะไร ทำให้ลูกค้าจดจำชื่อโดเมนนั้นได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ลูกค้าค้นหาชื่อผู้ประกอบการหรือบริษัทได้ง่ายขึ้นด้วย แต่ในช่วงเริ่มต้น ผู้ใช้ IDNs ยังอาจจะประสบปัญหาอยู่บ้าง เพราะระบบยังไม่สามารถรองรับภาษาไทยได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในเรื่องนี้ ETDA ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้ทำงานกับคณะทำงานของ ICANN ที่บริหารจัดการชื่อโดเมนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งอยู่ระหว่างจัดทำข้อกำหนดของ IDNs ภาษาไทย เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพกับทุกเบราว์เซอร์ รวมถึงโปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการเรียกผ่าน URL บนอินเตอร์เน็ต

“คาดการณ์ว่าการใช้ IDNs จะทำให้เกิดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตใหม่ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษารัสเซีย จีน อารบิก อินโด-อารยัน และเวียดนาม ถึง 17 ล้านคน และเกิดการใช้จ่ายผ่านทางออนไลน์จากกลุ่มผู้ใช้ใหม่นี้สูงถึง 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือมากกว่า 2.06 แสนล้านบาท ประเทศไทยก็ไม่แตกต่างกัน เป็นประเทศที่มีภาษาของตัวเอง ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจและเริ่มหันมาใช้ IDNs ก็จะสามารถข้ามกำแพงด้านภาษาและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น โดยไม่ติดปัญหาเรื่องความเข้าใจในภาษาอังกฤษอีกต่อไป” สุรางคณา กล่าว

ด้าน วรรณวิทย์ อาขุบุตร ประธานคณะทำงาน Thai Generation Panel ของ ICANN กล่าวว่า ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่มีภาษาของตัวเอง เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย อาหรับ เวียดนาม เมียนมา ต่างหันมานิยมใช้ชื่อโดเมนด้วยภาษาของตัวเอง แต่คนไทยยังติดกับการใช้ชื่อโดเมนภาษาอังกฤษ และยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาด ซึ่งความจริงแล้วการใช้ชื่อโดเมนเป็นภาษาไทยนั้นช่วยเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำอีคอมเมิร์ซในไทยได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยหรือแม้แต่บริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนเปิดธุรกิจหรือทำการตลาดในไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีโอกาสสูงสำหรับอีคอมเมิร์ซ เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน หรือราว 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีคนไทยใช้สมาร์ตโฟนมากถึง 85.5% ของประชากรทั้งหมดมากกว่า 66 ล้านคน ซึ่งการทำธุรกิจที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทย ไม่มีวิธีไหนจะดีเท่ากับการมีร้านออนไลน์หรือโซเชียลเป็นชื่อไทย ค้นคำหาเจอง่าย ทำความรู้จักธุรกิจจากชื่อได้ทันที ที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องภาษา เพราะเป็นภาษาของเราเอง

วรรณวิทย์ อาขุบุตร

“ชื่อโดเมนเป็นหัวใจสำคัญของการทำแบรนดิ้งและการสื่อสารการตลาด หากชื่อไม่ชัดเจนลูกค้าก็จะเสิร์ชหาไม่เจอ แต่เนื่องจากชื่อโดเมนเริ่มต้นจากคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้เมื่อก่อนคนที่ใช้ภาษาอื่นประสบปัญหาในการจดชื่อโดเมนให้มีความหมายตรงกับเนื้อหาในเว็บไซต์ของตัวเองและต้องเลี่ยงด้วยการจดชื่ออื่น ซึ่งอาจมีความหมายไม่ตรงหรือยาวเกินไป การมี IDNs ทำให้เราสามารถมีชื่อโดเมนเป็นภาษาของเรา ซึ่งทำให้เกิดความคุ้นเคย จดจำชื่อเว็บและแบรนด์สินค้าได้ง่าย เข้าถึงเว็บไซต์ก็ง่าย ทั้งยังสื่อสารได้ดีกับลูกค้าที่ไม่สะดวกในการใช้ภาษาอังกฤษ การใช้ชื่อโดเมนภาษาไทยช่วยให้คนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จักชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ ตั้งต้นเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นตั้งแต่เริ่มแรก แค่พิมพ์คำที่ต้องการค้นหาเป็นภาษาไทยก็เข้าเว็บไซต์ได้ทันที เป็นการลบข้อจำกัดทางภาษา”

IDNs ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำ Search Engine Optimization (SEO) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการโปรโมตเว็บและขายสินค้า เว็บไซต์ที่ติดอันดับต้น ๆ ก็จะมีโอกาสให้ผู้ใช้คลิกเข้ามาเยี่ยมชมมากขึ้น ชื่อโดเมนเป็น เหมือนคีย์เวิร์ดสำหรับการค้นหาของเสิร์ชเอนจิ้นทุกตัว ดังนั้นการมีชื่อโดเมนที่สะกดตรงตัวกับสิ่งที่เป็นเป้าหมายจึง ช่วยเพิ่มโอกาสติดอันดับต้น ๆ เมื่อเวลาผู้สนใจค้นหา นอกจากนี้ภาษาท้องถิ่นยังเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ชื่อโดเมน เพราะในหลายครั้งคนที่จะเลือกไม่เข้าเว็บไซต์ใด ๆ ที่ไม่เข้าใจชื่อโดเมนหรือชื่อยาวเกินไป การใช้ IDNs จึงทำให้ชื่อสั้นลง น่าจดจำยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของผู้สนใจเวลาเสิร์ชได้ดีขึ้น

“การมีชื่อโดเมนที่เป็นภาษาไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการใช้งาน .ไทย (ดอทไทย) และ .คอม (ดอทคอม) แล้ว นอกจากก่อนหน้านี้ ที่ได้เริ่มจดชื่ออีเมลเป็นภาษาไทยแล้ว ซึ่งในอนาคตยังสามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นภาษาไทย เพื่อรองรับการใช้งานของคนไทยในประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันแชต เสิร์ชเอนจิ้น เป็นต้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเสียดุลการค้า ทั้งยังเป็นโอกาสให้เกิดสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เชื่อว่าการใช้อีเมลและชื่อโดเมนเว็บภาษาท้องถิ่นยังจะช่วยลดปัญหาด้านอาชญากรรมออนไลน์ได้อีกด้วย เพราะแต่ละภาษาจะมีรูปแบบที่เป็นเอกลัษณ์เฉพาะตัว” วรรณวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย

มติชน ออนไลน์
1 สิงหาคม 2560
https://www.matichon.co.th/lifestyle/tech/news_615968

Leave a Reply